คำตอบ เนื่องจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็กมีราคาถูกเพียงหลักพันบาท ไม่มีทางที่จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับหรือนำไปใช้ทดแทนเครื่องวัดอ้างอิงที่มีราคาหลายล้านบาทได้ การนำเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็กไปใช้ในภาคสนามจึงมีบทบาทหลักที่จะให้ข้อมูลเสริมหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถติดตั้งเครื่องตรวจวัดอ้างอิงได้ และที่สำคัญผู้นำไปใช้ต้องรู้ขีดจำกัดของเซนเซอร์ขนาดเล็กเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง
ในช่วงที่มีคุณภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน เช่น เกิดไฟไหม้ป่าใกล้จุดตรวจวัดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดอยสะเก็ด พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีค่า PM
2.5 ผันผวนค่อนข้างมาก โดยบางขณะมีค่า PM
2.5 สูงเกิน 1000 มคก./ลบ.ม. ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะพบในภาวะปกติทั่วไป

รูปนี้เป็นกราฟที่ได้จากการสอบเทียบภาคสนามในช่วงเวลาที่มีคุณภาพอากาศแปรปรวนดังกล่าว พบว่าเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็กจะมีความคลาดเคลื่อนของการวัดไม่เกิน 10% เมื่อมีค่า PM
2.5 ไม่เกิน 350 มคก./ลบ.ม. (R2 = 0.903) ซึ่งเซนเซอร์ขนาดเล็กแทบทุกชนิดมักมีขีดจำกัดในการตรวจวัดค่ามลพิษที่สูงมากๆ โดยมักจะให้ค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด เนื่องจากในการแจ้งเตือนผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หากค่า PM
2.5 สูงเกิน 250 มคก./ลบ.ม. จะต้องแจ้งเตือน AQI เป็นระดับสูงสุด นั่นคือระดับอันตรายสีน้ำตาลอยู่แล้ว ดังนั้น การที่เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็กรายงานค่า PM
2.5 ที่เกิน 350 มคก./ลบ.ม. ต่ำกว่าความเป็นจริง ยิ่งเป็นการแสดงว่าในขณะนั้นมีมลพิษสูงเกินกว่าระดับอันตรายอย่างแน่นอน